วันนี้ผู้เขียน ขอเขียนถึงคดีก่อสร้างคดีหนึ่ง ที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และมีโจทก์หลายคน ฟ้องจำเลยคนเดียว แต่ฟ้องเป็นหลายคดี ในเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย ที่ผู้เขียนบอกว่ามีความซับซ้อนก็เนื่องมาจาก จำเลยในคดีนี้ได้ทำการก่อสร้างอาคารขึ้นมา โดยรายล้อมด้วยอาคารทั้งด้านหน้า,ด้านหลัง,ด้านขวาและด้านซ้าย ซึ่งจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของจำเลย ได้ทำให้อาคารที่รายล้อมเหล่านั้นเกิดความเสียหายขึ้นมา จึงเกิดเป็นคดีต่างๆที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารเหล่านั้น ได้ฟ้องจำเลยคนดังกล่าว ในความเสียหายแต่ละคดีที่มีทุนทรัพย์ที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมของคดีนี้ในฝั่งของจำเลย เพื่อไปอธิบายว่าการตรวจสอบความเสียหายของอาคารควรตรวจสอบอย่างไร และในส่วนของข้อกฎหมาย และแนวทางต่อสู้คดีควรไปในทิศทางใด ซึ่งประเมินจากเอกสารจากทางฝั่งโจทก์ที่อ้างมาในคำฟ้อง และคำเบิกความในฝั่งของพยานโจทก์ ที่ทางจำเลยได้นำมาทำการบ้านก่อนได้ไปคุยในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งทางผู้เขียนได้ประชุมร่วมกับทนายความของจำเลย ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้รับประกันภัยในการก่อสร้างอาคารของจำเลยในครั้งนี้ โดยการประชุมได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.อธิบายถึงขั้นตอนการก่อสร้าง การป้องกัน และการตรวจสอบ ของทางผู้รับเหมา 2 การนำข้อมูลมาโต้แย้งเอกสารหลักฐานของทางโจทก์ และ 3. แนวทางการเบิกความของจำเลยแต่ละปาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกคดีหนึ่งที่โจทก์อีกคนหนึ่งได้ฟ้องจำเลยเช่นเดียวกัน แต่ในคดีนี้ ทางโจทก์และจำเลยได้ตกลงกันต่อศาล ขอให้ศาลมีหนังสือไปยังสภาๆหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อถือทางด้านวิศวกรรมมาช่วยตรวจสอบความเสียหายในส่วนของอาคารในคดีดังกล่าว โดยในวันที่ท่านผู้เชี่ยวชาญได้มาตรวจสอบอาคารดังกล่าว ทางผู้เขียนก็ได้ตรวจสอบร่วมกับท่านด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบก็ได้ข้อสรุปว่า การก่อสร้างอาคารของจำเลย อาจจจะไม่ได้มีผลโดยตรงต่อความเสียหายในอาคารของโจทก์ แต่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้ความเสียหายร้เกิดขึ้นเท่านั้น โดยคดีดังกล่าวได้ล่วงเลย เนินนานมานับปี เป็นการยากที่จะเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ว่าเกิดจากการก่อสร้างดังกล่าวจริงหรือไม่ และจากข้อสรุปดังกล่าว ก็ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล หรือหากยังมิได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกัน ทั้งทางโจทก์และจำเลย ควรรีบตกลงกันเพื่อหาคนกลางมาประเมินความเสียหายในเบื้องต้นก่อน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวสู่การเจรจาประนีประนอมยอมความกัน โดยหากตกลงกันไม่ได้แล้ว ก็ค่อยนำคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาล ซึ่งในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล ก็จะเป็นการสืบความเสียหายทางแพ่งตามเอกสารที่ได้ตรวจสอบกันไปแล้ว ซึ่งจะจบคดีได้รวดเร็ว และเป็นประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยได้มากกว่า
ทค.สิรภพ โชติยาธนากูล