การบอกเลิกจ้าง กรณีสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงทันที นายจ้างหรือลูกจ้างไม่ต้องบอกกล่าวต่อกันว่าสัญญาจ้างเป็นอันมิ้นสุดหรือเป็นอันยกเลิก
หากสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญยาจ้างแล้ว นายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ประสงค์ที่จะจ้างงานกันต่อไป แต่หากลูกจ้างยังทำงานต่อไป โดยที่นายจ้างทราบแต่ก็ไม่ได้ทักท้วง กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายจ้างกับลูกจ้างเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาจ้างเดิม(ป.พ.พ.ม.581) ซึ่งสัญญาจ้างใหม่เป็นสัญญาที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้าง ต่อมาหากนายจ้างหรือลูกจ้างจะยกเลิกสัญญาจ้างใหม่ดังหล่าว ก็กระทำได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ในกรณีที่นายจ้างมิได้ทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาไว้ ก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญาจ้าง ก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
โดยการบอกเลิกสัญญา กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้แน่นอน การบอกเลิกสัญญาให้ยึดถือกำหนด วันที่จ่ายค่าจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามที่นายจ้างตกลงหรือปฏิบัติต่อลูกจ้างเป็นหลัก
ถ้าประกาศหรือข้อตกลงเรื่องกำหนดระยะเวลาในการบอกกล่าวแตกต่างไปจากบทบัญญัติตามมาตรานี้ และมีผลเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายจะตกเป็นโมฆะ หรือถ้าหากเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างมากเกินควร ศาลอาจมีคำสั่งบังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างก็ได้
และในกรณีที่นายจ้างมิต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ม.118 ว.3 คือกรณีที่สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน และนายจ้างได้เลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การบอกเลิกจ้าง กรณีสัญญาจ้างมิได้มีกำหนดระยะเวลา
นายจ้างหรือลูกจ้างที่ประสงค์จะเลิกสัญญาจ้างก็ต้องบอกเลิกสัญญาจ้างต่ออีกฝ่ายหนึ่ง โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
ในการเลิกสัญญา กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้แน่นอน การบอกเลิกสัญญาจ้างให้ยึดถือกำหนดวันที่จ่ายค่าจ้างระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างไว้ตามที่ได้ตกลงกันเป็นหลัก โดยกรณีสัญญาจ้างทดลองงาน กฎหมายให้ถือว่าเป็นสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้นการเลิกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างกับลูกจ้างทำลองงาน นายจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทดลองงานทราบตามระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้น
การฟ้องคดีต่อศาล
ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิได้ 2 ทาง โดยต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง คือ
1. ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน หรือ
2. ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการสอบสวน และมีคำสั่ง และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลทำการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตาม ม.125
ข้อควรระวังของลูกจ้าง
หากนายจ้างได้บอกเลิกจ้างแก่ลูกจ้างแล้ว และได้มีการทำสัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ว่าลูกจ้างไม่ติดใจเรียกร้องใดๆจากนายจ้างอีก ถือว่าเป็นสัญญาที่ได้กระทำขึ้นหลังจากสิ้นสุดการจ้างแล้ว จึงไม่ตกเป็นโมฆะ มีผลผูกพันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง(ดังนั้นหากลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารรับเงินจากนายจ้าง ซึ่งมีข้อความว่าไม่ติดใจใช้สิทธิเรียกร้องใดๆจากนายจ้างอีกนั้น ก็ย่อมไม่เป็นโมฆะ เพราะลูกจ้างได้ทราบว่าตนได้ถูกเลิกจ้างแล้ว โดยลูกจ้างย่อมไม่อยู่ในภาวะที่จะเกรงกลัวนายจ้างต่อไป เอกสารดังกล่าวจึงย่อมผูกพันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง)
ทค.สิรภพ โชติยาธนากูล